หลายตำนานในล้านนากล่าวว่า ชนเผ่าลัวะคือชนพิ้นเมืองของท้องที่นี้ ลัวะตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ แต่ได้ถอยร่นขึ้นไปอยู่ตามเทือกเขาสูง หลังจากทำสงครามแพ้พระนางจามเทวี ผู้เข้ามาสถาปนาแคว้นหริภุญไชย ใน พ.ศ. 1310-1311 จนถึง พ.ศ. 1835 พญามังรายเข้ามาครอบครองแคว้นหริภุญชัย และต่อมาได้ผนวกแคว้นหริภุญไยเข้ากับแคว้นโยน กลายเป็นอาณาจักรล้านนา เมืองเชียงใหม่จึงถือกำเนิดขึ้นนับแต่นั้น ในนาม "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" เพื่อเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา ทั้งทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
//include("topbanner.php"); ?>พญามังรายทรงวางรากฐานความเจริญรุ่งเรืองไว้หลายประการ คือ ทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง มีการตรากฎหมายเพื่อควบคุมกำลังพลและควบคุมกฎเกณฑ์ของสังคม มีการรับพุทธศาสนาจากหริภุญไชย โปรดฯ ให้สร้างวัดวาอารามมากมาย ทรงสนับสนุนให้ภิกษุจากเมืองต่างๆ มาศึกษา กลายเป็นศูนย์กลางทางศาสนาแทนหริภุญไชย
อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาจนถึงรัชสมัยของพญาแก้ว ก็เริ่มเสื่อมลงเนื่องจากพ่ายแพ้สงครามกับเชียงตุง เสียกำลังคนไปมากและยังเกิดอุทกภัยขึ้นอีก ผู้คนจึงลดน้อยลงอย่างมาก ผนวกกับกษัตริย์ลำดับต่อๆมาอ่อนแอ มีการรบราแย่งชิงสมบัติกันมาก เมืองในปกครองต่างแยกตัวเป็นอิสระ เมื่อพม่ายกกองทัพมาตีเชียงใหม่ในสมัยท้าวแม่กุ พ.ศ. 2101 อาณาจักรล้านนาจึงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอย่างง่ายดาย และเป็นเมืองขึ้นอยู่นานถึง 216 ปี
ต่อมาใน พ.ศ. 2317 พระยาจ่าบ้านขุนนางเมืองเชียงใหม่และพระยากาวิละ เจ้านครลำปางได้เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและร่วมกับกองทัพพระเจ้าตากขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่ได้สำเร็จ แต่ต้องใช้เวลาอีกถึง 30 ปี จึงขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนได้หมด
จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เชียงใหม่ อยู่ในฐานะเมืองประเทศราช โดยส่งบรรณาการและยอมรับอำนาจของรัฐบาลกลางมาด้วยดี กระทั่งถึงสมัยรัชการที่ 5 เมื่อลัทธิจักรวรรดินิยมแผ่เข้ามารัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ ได้ทำการปฏิรูปการปกครองโดยผนวกดินแดนล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม แต่ยังคงฐานะเป็นเมืองประเทศราช จนถึงในช่วง พ.ศ. 2442-2476 มีการยกเลิกฐานะเมืองประเทศราช เชียงใหม่จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยามอย่างแท้จริงและก้าวหน้าจนเป็นจังหวัดใหญ่จังหวัดหนึ่งของประเทศในปัจจุบัน