หัตถกรรมเมืองเชียงใหม่

ปัจจุบันงานด้านหัตถกรรมของเชียงใหม่ บางแห่งยังคงสร้างขึ้นตามแบบเดิมในอดีต ส่วนใหญ่แม้ยังใช้พื้นฐานของเทคนิคและวิธีการผลิตเก่า แต่ได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาทั้งรูปแบบทางศิลปะ กระบวนการผลิต และการจัดการให้เข้ากับกลไกตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งงานด้านหัตถกรรมของเชียงใหม่ที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่นิยมมีอยู่หลายชนิด เช่น เครื่องเงิน เครื่องเขิน ไม้แกะสลัก ผ้าทอตีนจก ผ้าไหมสันกำแพง เครื่องปั้นดินเผา ร่ม และกระดาษสา เป็นต้น

เครื่องเงิน

กลุ่มช่างเงิน ได้มาตั้งรกรากอยู่ใกล้กับไทเขิน และตั้งชื่อหมู่บ้านของตนว่า "วัวลาย" หรือ "งัวลาย" ตามรัฐฉานที่ตนจากมา และการทำเครื่องเงินในระยะแรก ทำขึ้นเพื่อเป็นส่วยตามความต้องการของเจ้านาย ภายหลังที่เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นและมีการติดต่อค้าขายกับชาติอื่น เช่น พม่า และชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เครื่องเงินจึงกลายเป็นสินค้าแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายกับสินค้าจำเป็นอื่น ๆ และสามัญชนเริ่มใช้เครื่องเงินได้ ด้วยเหตุที่เจ้านายเริ่มเปลี่ยนไปใช้เครื่องทองแทน

ไม้แกะสลัก

เดิมแหล่งทำไม้แกะสลักของเชียงใหม่อยู่แถว วัวลาย ประตูเชียงใหม่ และชาวบ้านจากหมู่บ้านถวาย ไปฝึกฝนจนสามารถทำได้ดี จึงได้นำกลับมาทำที่บ้านถวาย ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จนเป็นที่นิยมของคนทั่วไป สินค้าแกะสลักมีหลายอย่าง ตั้งแต่ชิ้นเล็กอย่างเช่น ปากกา ดินสอที่ทำจากกิ่งไม้ ช้าง นก กบ ปลา และสัตว์ต่าง ๆ ดอกไม้ จนถึงไม้แกะสลักขนาดใหญ่ เช่น นางไหว้ นางรำ ช้าง ฯลฯ

ผ้าทอ

ผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าพื้น ไม่มีลวดลาย หรืออาจเป็นลายง่าย ๆ เช่น ลายตาราง ส่วนการทอผ้าที่มีลวดลายสวยงาม ส่วนใหญ่เป็นลายเฉพาะของกลุ่มคน เช่น ลายน้ำไหล ของไทลื้อ ซิ่นลัวะ ซิ่นยาง เป็นต้น ทำให้ผ้าทอของเชียงใหม่มีหลากหลาย จนยากที่จะกำหนดว่าผ้าแบบใด ลายอย่างไรเป็นเอกลักษณ์ที่แท้จริงของเชียงใหม่ ปัจจุบันผ้าทอของเชียงใหม่ที่เป็นที่นิยมมีอยู่หลายแห่ง คือ ตีนจกแม่แจ่ม ผ้าทอบ้านไร่ไผ่งาม และผ้าไหมสันกำแพง เป็นต้น

เครื่องปั้นดินเผา

หม้อดินเผาที่ใช้ในครัวเรือนของชาวเชียงใหม่ ปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด เช่น หม้อนึ่ง หม้อแจ่ง (เป็นหม้อทรงสูงใช้ต้มน้ำ) หม้อต่อม (หม้อใบเล็กใช้ต้มหรือแกง) หม้อต้มยา หม้อข้าวพม่า น้ำต้น (คนโท) โดยมีแหล่งการผลิตอยู่หลายแห่ง เช่น บ้านกวน หารแก้ว บ้านเหมืองกุง และเครื่องถ้วยเตาขุนเส เป็นต้น

ร่มบ่อสร้าง

ร่มบ่อสร้าง ได้มีการเริ่มทำขึ้นเมื่อ 100 ปี มาแล้ว มีพระภิษณุจากสำนักวัดบ่อสร้าง ชื่อพระอินถา ได้เดินธุดงค์ไปถึงชายแดนพม่า ได้พบกลดลักษณะแปลกคล้ายร่ม จึงเดินทางไปศึกษาวิชาทำร่มที่พม่า แล้วกลับมาสอนวิชาที่บ้านบ่อสร้าง ซึ่งจะใช้ไม้บง (ไม้ไผ่) หัวและตุ้ม (จุกร่ม) ใช้ไม้สัมเห็ด คันร่มใช้ไม้รวก เมื่อประกอบเป็นร่มแล้ว จึงใช้ยางตะโกเป็นกาว แล้วใช้น้ำมันยางทาบนกระดาษสา กันแดด กันฝน ปัจจุบันได้ใช้กระดาษจีน มีลวดลายพิมพ์จากโรงงาน และราคาถูกกว่า แทนกระดาษสา คงใช้แต่กระดาษสา รองชั้นแรกเท่านั้น

เครื่องเขิน

เครื่องเขินเป็นภาชนะทำจากไม้ไผ่สานเป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามต้องการ เคลือบด้วยน้ำรักสีดำ ถ้าต้องการสีแดง ทาเคลือบด้วยชาด ซึ่งทางเชียงใหม่เรียกว่า สีหาง หากเป็นของเจ้านายจะประดับตกแต่งด้วยสีทองและเขียนลวดลายสวยงาม ส่วนของชาวบ้านมักเป็นสีหาง ไม่มีลวดลาย

กระดาษสา

การทำกระดาษสาที่เชียงใหม่ ทำกันมากที่หมู่บ้านต้นเปา ซึ่งมีอายุการทำมาประมาณ 100 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่พระอินถา นำวิชาทำร่ม และมีการดาษสาเป็นส่วนสำคัญ จากพม่ามาสอนแก่ชาวบ่อสร้าง เดิมบ้านต้นเปา มีต้นปอสาในป่ามากมาย จึงทำให้ชาวบ้านต้นเปา ยึดอาชีพ ทำเยื่อกระดาษสาเป็นอาชีพรองจากการทำนา และการทำอาชีพนี้จะทำกันในฤดูแล้ง เมื่อว่างจากงานไร่นา


lannafood.com