วัดและโบราณสถานในเชียงใหม่

เชียงใหม่ มีวัดและโบราณสถานมากมาย เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบทำบุญและศึกษาประวัติศาสตร์ บางแห่งมีอายุหลายร้อยปีและมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น วัดเจ็ดยอด วัดเจย์ดีหลวง

วัดกู่เต้า

ตั้งอยู่ในตำบลศรีภูมิ ติดกับสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ วัดนี้เดิมชื่อว่าวัดเวฬุวนาราม มีเจดีย์ที่มีลักษณะแปลกไปกว่าเจดีย์อื่นๆ ในเมืองไทย คือคล้ายกับผลแตงโมวางซ้อนกันอยู่หลายลูก ชาวบ้านจึงเรียกว่า เจดีย์กู่เต้า วัดนี้ไม่มีประวัติแจ้งไว้แน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีตำนานเล่าว่า เจดีย์กู่เต้านี้เป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าสารวดี ซึ่งเป็นราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งมาครองเมืองเชียงใหม่ในระหว่างปี พ.ศ. 2122 - 2150

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)

ตั้งอยู่ที่ถนนพระปกเกล้าด้านที่ตัดกับถนนราชดำเนิน ต.ศรีภูมิ อ.เมือง เจ้าบุรีรัตน์เป็นตำแหน่งทางราชการ คุ้มเจ้าบุรีรัตน์หลังนี้คาดว่าสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2432-2436 ปัจจุบันตกเป็นของตระกูลกิติบุตรและทิพย์มณฑล ซึ่งมอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดตั้งเป็นศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา ภายใต้การดูแล จัดการ และดำเนินงาน ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อเก็บข้อมูล และค้นคว้า วิจัย อันนำไปสู่แนวทางในการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง

วัดอุปคุต

ตั้งอยู่ถนนท่าแพ ด้านสะพานนวรัฐ ลงจากสะพานผ่านสี่แยกมาประมาณ 10 เมตร จะพบวัดอยู่ทางด้านซ้ายมือ สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเพณีใส่บาตรพระอุปคุต ชาวเหนือเชื่อว่าหากเดือนใดมีวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ หรือที่เรียกว่า “เป็งพุธ” พระอุปคุตจะปลอมเป็นเณรมาบิณฑบาตตอนเที่ยงคืน ชาวบ้านเชื่อว่าหากได้ใส่บาตรพระอุปคุตจะได้บุญมาก จึงมีประเพณีใส่บาตรตอนเที่ยงคืน

วัดแสนฝาง

ตั้งอยู่ที่ถนนท่าแพซึ่งในสมัยก่อนเป็นย่านการค้าของพ่อค้าชาวพม่า เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่มีศิลปการก่อสร้างแบบพม่า โดยเฉพาะเจดีย์ที่มีการตกแต่งลวดลายปูนปั้นวิจิตรงดงาม นอกจากนี้ยังมีกุฏิเจ้าอาวาสซึ่งสร้างมานานกว่า 100 ปี เป็นจุดที่น่าสนใจอีกด้วย ตามประวัติเล่าว่าพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ให้รื้อที่ประทับของพระเจ้ากาวิโรรสสุริวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 มา สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2420 ครั้นสร้างเสร็จแล้วจึงโปรดให้มีการฉลองในปี พ.ศ. 2421

วัดบุพพาราม

ตั้งอยู่บนถนนท่าแพเยื้องกับวัดแสนฝาง อำเภอเมือง เป็นวัดคู่เมืองเชียงใหม่ พระเมืองแก้วโปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2039 ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2362 เจ้าหลวงธรรมลังกาโปรดให้สร้างวิหารหลังเล็กซึ่งเป็นเครื่องไม้ศิลปะล้านนา หน้าบันเป็นปูนปั้นประดับกระจกแกะลายสลักไม้อย่างงดงาม ส่วนวิหารหลังใหญ่หน้าบันมีลวดลายไม้แกะสลักแบบพม่า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองแดงล้วนหนัก 1 โกฏิ อายุ 400 ปีเศษ และพระพุทธรูปเชียงแสนหล่อด้วยสำริดอยู่ทางด้านซ้ายและขวาอีกหนึ่งคู่

วัดป่าเป้า

ตั้งอยู่ที่ถนนมณีนพรัตน์ เป็นวัดเงี้ยวแห่งแรกในเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2426 ชาวเงี้ยว หรือชาวไทยใหญ่ในสมัยนั้นจะอาศัยอยู่บริเวณย่านช้างเผือก ข่วงสิงห์ ช้างม่อย ฟ้าฮ่าม และวังสิงห์คำ แต่เดิมบริเวณนี้มีต้นเป้าเป็นจำนวนมาก วัดจึงได้ชื่อว่า วัดป่าเป้า ลักษณะของพระธาตุที่วัด ป่าเป้านี้เป็นแบบไทยใหญ่ เละที่วัดได้จัดประเพณีปอยส่างลองเป็นประจำในเดือนเมษายนของทุกปี



lannafood.com